สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จะดำเนินงานมาครบรอบ 30 ปี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จากจุดเริ่มต้น ในปี 2537 ในนามของ "ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้" หรือ Bond Dealers Club และปรับเปลี่ยนสถานะเป็น "ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย" จนกระทั่งเป็น "สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association)" หรือ ThaiBMA ในปัจจุบัน
ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ThaiBMA ได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยผ่านการทำหน้าที่ในบทบาทหลัก 5 ด้าน ได้แก่ การเป็นองค์กรกำกับดูแลสมาชิกที่เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ (Self-Regulatory Organization: SRO) การเป็นศูนย์กลางข้อมูลในตลาดตราสารหนี้ การทำหน้าที่เผยแพร่ราคายุติธรรม หรือ Bond pricing agency การเป็นแกนกลางในการผลักดันการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในด้านต่างๆ ตลอดจนการทำหน้าที่สมาคมโดยเป็นตัวแทน ของสมาชิกเพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจของสมาชิกและผู้ร่วมตลาด
แม้จะมีวิกฤตการณ์ทางการเงินและสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและสามารถทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแหล่งระดมทุนที่สำคัญให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จาก
-มูลค่าธุรกรรมซื้อขายตราสารหนี้ในวันแรกที่จัดตั้งในปี 2537 เพียง 1 ล้านบาท สู่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันกว่า 6.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน (มิถุนายน 2567)
-มูลค่าการออกหุ้นกู้เพียงหลักหมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2537 สู่มูลค่าการออกหุ้นกู้ 1 ล้านล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน (มิถุนายน 2567)
-จำนวนบริษัทที่เคยออกหุ้นกู้เพียง 20 บริษัทในปี 2537 สู่ 653 บริษัท ครอบคลุมเกือบ 30 กลุ่มอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567
-มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยเพียง 339,000 ล้านบาท คิดเป็น 9.3% ต่อ GDP เมื่อปี 2537 สู่มูลค่าสูงถึง 17 ล้านล้านบาท คิดเป็น 95% ต่อ GDP ในปัจจุบัน (มิถุนายน 2567)
-สัดส่วนหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลจากที่เคยสูงถึงร้อยละ 85.3 เมื่อปี 2540 เหลือเพียงร้อยละ 0.98 ณ สิ้นพฤษภาคม 2567
ทั้งนี้ ThaiBMA จะจัดให้มีงานสัมมนา "30 Years of ThaiBMA: A Journey Towards a Fair and Efficient Bond Market" ในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9:00 - 13:00 น. ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่ผ่านมา และนโยบายแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะข้างหน้า พร้อมจัดทำหนังสืออนุสรณ์บันทึกที่มาเส้นทางความสำเร็จของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยที่จะนำออกเผยแพร่ต่อไป