แชร์

สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาส 1 ปี 2568 ขยายตัว 2.2% จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรภาครัฐ

อัพเดทล่าสุด: 5 เม.ย. 2025
41 ผู้เข้าชม

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในกรอบจำกัด ตลาดตราสารหนี้ไทยในไตรมาส 1 ปี 2568 ขยายตัว 2.2% จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรภาครัฐเป็นสำคัญ ในขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่าคงค้างใกล้เคียงเดิม โดยหุ้นกู้กลุ่มเรทติ้งสูงมีมูลค่าการออกมากกว่าที่ครบกำหนด ส่วนนักลงทุนต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิ 10,297 ล้านบาท นอกจากนี้ ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไปราว 1-2 ครั้ง รวม 0.25-0.50% ในปีนี้

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 17.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.2% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 203,486 ล้านบาท ลดลง 1.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade โดยรวมมีการออกมากกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด ในขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High yield มีการออกน้อยกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม Energy Property และ Finance ตามลำดับ

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 มีการปรับตัวในทิศทางขาลงโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลง 31-35 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 ของหุ้นกู้อันดับเครดิตต่างๆ ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A และ BBB+ ปรับตัวลดลง 26-52 bps. มาอยู่ที่ระดับ 2.29% 2.63% 3.01% และ 4.31% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ในไตรมาสแรกของปี 2568 เป็นการซื้อสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 10,297 ล้านบาท โดยเป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาทในเดือนมกราคม ก่อนพลิกกลับมาเป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมรวม 22,286 ล้านบาท หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 8.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.4 ปี ลดลงจาก 8.7 ปีเมื่อสิ้นปี 2567

ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้กล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2568 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปราว 1-2 ครั้ง รวม 0.25-0.50% ลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% จากปัจจุบันที่ 2.00% สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะขยับตัวลดลงเฉลี่ยราว 4-7 pbs. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเป็นสำคัญ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy