ส.อ.ท. จับมือ "ม.มหิดล" ลงนามความร่วมมือ ผลักดันเกษตรอัจฉริยะ "โครงการ SAI"
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอัจฉริยะ โดยได้รับเกียรติจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวที่มาของความร่วมมือโครงการ SAI ณ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทางด้านการเกษตรของประเทศ ด้วยตระหนักดีว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สามารถต่อยอดจากฐานความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรของไทย โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต เริ่มตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การขนส่ง การแปรรูปและการสกัดสารสำคัญ รวมถึงการพัฒนาด้านการขายและการตลาด จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนา "โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI)" เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอัจฉริยะ
การดำเนินโครงการนี้ ส.อ.ท. จะบริหารจัดการพื้นที่ Sandbox ภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สำหรับการทดสอบและสาธิตการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรผ่านการเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภค และอุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูง รวมถึงการบูรณาการเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบรองรับการขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้แนวคิด 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม (One Province One Industry) ไปยังเกษตรกรในภูมิภาคทั่วประเทศ ครอบคลุม 5 ภาค 18 กลุ่มจังหวัด 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างกลไกการทำงานระหว่างเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมรัฐ สถาบันการวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียงทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง ตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green) และเกิดโมเดลธุรกิจทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน นำไปสู่ความยั่งยืน นายเกรียงไกร กล่าวเสริม
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้นับเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางการเกษตรอัจฉริยะที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้กับผู้ประกอบการ โดยใช้พื้นที่บริเวณอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นพื้นที่ Sandbox ในการทดสอบและสาธิตการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรแบบครบวงจร เป็นต้นแบบความร่วมมือระยะยาวระหว่างมหาวิทยาลัยกับ ภาคอุตสาหกรรมในด้านการวิจัย วิชาการ การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างยั่งยืนโดยมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้ทางการวิจัยและวิชาการ การต่อยอด และถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย กับเครือข่ายผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างกลไกการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม
"พิธีลงนาม MOU ในวันนี้ นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นอีกก้าวหนึ่งในการผลักดันความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่ศาลายา เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยกับ เครือข่ายผู้ประกอบการและพันธมิตรของ ส.อ.ท. อันจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยบูรณาการความรู้และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับ ส.อ.ท." ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร กล่าวทิ้งท้าย
ภายในงานมีการ Showcase สินค้าและบริการต่างๆ จากทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 5 บูธ ได้แก่ โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI), สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม,โครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน (Innovation ONE), FTI Academy, FTI Service และจากของมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 10 บูธ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจัดบูธ ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรี, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะวิทยาศาสตร์ ,สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, สถาบันโภชนาการ,คณะเภสัชศาสตร์, สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม และโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติซึ่งสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้การสนับสนุนในการประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมจัดบูธในครั้งนี้