ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดและรักษาโรคอ้วน เผยเนื่องในวันอ้วนโลกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปีว่า ปัจจุบันพบคนไทยมีภาวะโรคอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 (น้ำหนักเกิน ค่า BMI > 25 kg/m) โดยในกลุ่มนี้มีเกือบ 7 ล้านคนเป็นโรคอ้วนทุพพลภาพ (ค่า BMI > 30 kg/m) การรักษาโรคอ้วนด้วยการ "ผ่าตัดกระเพาะ" ถือเป็นอีกวิธีในการต่อสู้กับภาวะโรคอ้วนรุนแรง ที่จะทำให้ลดภาวะของโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดจากความอ้วนได้
นพ.นรนนท์ บุญยืน ศัลยแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องและโรคอ้วน โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอ้วนโลก ปัจจุบันมีคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วทุกมุมโลก โดยโรคอ้วนเป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในร่างกายมากเกินปกติ โดยเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะอ้วนทำได้ง่าย ๆ คือการวัดดัชนีมวลกายหรือ BMI (Body Mass Index) โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวหารด้วยความสูง(เมตร) ยกกำลังสอง หน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเมตร (kg/m2) โดยทั่วไปแล้วสำหรับคนไทยถ้ามีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นโรคอ้วน แต่ถ้าเกิน 30 ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วนรุนแรงหรือโรคอ้วนทุพพลภาพ โดยในปัจจุบันประชากรที่เป็นโรคอ้วนทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย มีประชากรกว่า 1 ใน 3 มีภาวะโรคอ้วนและประชากรเกือบ 7 ล้านคนเป็นโรคอ้วนทุพพลภาพ (BMI มากกว่า 30)
โรคอ้วน เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายใช้ ทำให้เกิดการสะสมในรูปแบบของไขมันในร่างกาย นอกจากพฤติกรรมการรับประทานแล้ว ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้อีกหลายประการ เช่น โรคเกี่ยวกับฮอร์โมนบางชนิด พันธุกรรม ลักษณะการทำงาน สภาพแวดล้อม และสังคมรอบตัว เป็นต้น
นพ.นรนนท์ กล่าวว่า โรคอ้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพทุกระบบของร่างกาย เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ นอนกรน ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ โรคข้อเสื่อมก่อนวัย ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก มะเร็งบางชนิด เป็นต้น อาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร นอกจากนี้โรคอ้วนยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นใจ การทำงาน รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ โดยสำหรับประเทศไทยมูลค่าทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขที่ต้องจ่ายจากโรคอ้วนมากกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี
การรักษาโรคอ้วน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดน้ำหนัก เพื่อทุเลาและรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ความมั่นใจในบุคลิกภาพของผู้ป่วย การรักษาโรคอ้วน ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มจากหาสาเหตุของโรคอ้วน ตรวจหาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความอ้วน แนวทางการรักษาเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การเลือกอาหาร การออกกำลังกาย การติดตามน้ำหนัก มวลไขมัน/กล้ามเนื้อ การใช้ยาลดน้ำหนักที่ปลอดภัยอย่างถูกวิธี การทำหัตถการผ่านกล้อง ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งในผู้ป่วยโรคอ้วนแต่ละคน อาจมีแนวทางการรักษาแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคอ้วน น้ำหนักและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วย
การผ่าตัดลดน้ำหนัก เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารผ่านการส่องกล้อง เพื่อลดปริมาตรของกระเพาะอาหารและปรับฮอร์โมนทางเดินอาหาร (ลดฮอร์โมนหิว เพิ่มฮอร์โมนอิ่ม) การผ่าตัดสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าการลดน้ำหนักวิธีการอื่น ๆ ในเวลาอันสั้นกว่า และช่วยให้โรคแทรกซ้อนต่างๆ ดีขึ้น รวมถึงโอกาสกลับมาอ้วนซ้ำยังน้อยกว่าการลดน้ำหนักแบบอื่นเช่นกัน ผู้ป่วยโรคอ้วนที่เหมาะสมแก่การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดตามแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดแห่งประเทศไทย พ.ศ.2564 ได้แก่ ผู้ที่มี BMI มากกว่า 37.5 หรือผู้ที่มี BMI มากกว่า 32.5 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนอย่างน้อย 1 โรค