การลดความยากจน (SDG 1 No poverty), ขจัดความหิวโหย (SDG 2 Zero Hunger) และลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10 Reduced inequality) เป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573 โครงการ OCOP - One Country One Priority Product" ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO - Food and Agriculture Organization) จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ อย่างเสมอภาค ยั่งยืน จากการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของแต่ละประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงภารกิจบนเวทีนานาชาติของสถาบันฯ โดยได้รับมอบหมายของ FAO เพื่อนำประสบการณ์ความสำเร็จของประเทศไทยในโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)" มาประยุกต์สนับสนุนโครงการ OCOP - One Country One Priority Product" ในประเทศต่างๆ
โดยในเบื้องต้น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะส่งนักวิจัยลงพื้นที่ใน 4 ประเทศแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ราชอาณาจักรภูฏาน รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ราชอาณาจักรกัมพูชา และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล เพื่อร่วมพัฒนาและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาหาร รวมถึงสูตรอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากวัตถุดิบการเกษตรที่สำคัญของแต่ละประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ของเกษตรกรรายย่อยภายในแต่ละประเทศ
ซึ่งทั้ง 4 ประเทศได้เสนอให้มีการพัฒนาอาหารต้นแบบจากวัตถุดิบที่แต่ละประเทศให้ความสนใจ ประเทศละ 1 รายการ โดย 2 ประเทศแรกที่ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพัฒนาอาหารตามโครงการ OCOP ได้แก่ ราชอาณาจักรภูฏานที่ให้ความสนใจพัฒนาอาหารจาก ควินัว (Quinoa) ซึ่งเป็นอาหารในกลุ่มธัญพืชที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกาใต้ และปลูกอย่างแพร่หลายในภูฏานเป็นเวลาเกือบทศวรรษ จนกลายเป็นสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกในปัจจุบัน โดยมีความโดดเด่นในเรื่องไฟเบอร์ (Fiber) หรือกากใยสูง ในขณะที่ รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ให้ความสนใจพัฒนาอาหารจาก วานิลา (Vanilla) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอเมริกาใต้เช่นเดียวกัน เพื่อใช้แต่งกลิ่นอาหาร โดยมีค่าดุจทองคำ ตามมาด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา ให้ความสนใจพัฒนาอาหารจาก มะม่วง (Mango) ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากเอเชียใต้ โดยในปัจจุบันไทยถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะม่วงมากที่สุดในโลก
ปิดท้ายด้วย สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ที่ให้ความสนใจในการพัฒนาสูตรอาหาร และผลิตภัณฑ์จากเครื่องเทศ กระวาน (Cardamom) พืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดจากเอเชียใต้เช่นเดียวกัน โดยเป็นวัตถุดิบสำคัญทั้งในอาหารจานไทย ฝรั่ง และแขก
นับเป็นโอกาสสำคัญของ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะได้ก้าวสู่บทบาทในเวทีอาหารโลก ในฐานะ ปัญญาของแผ่นดิน ตามปณิธานฯ ที่พร้อมมอบองค์ความรู้เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ปลดพันธนาการความยากจน จาก อาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัย ไปสู่การมี คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดี และทำให้แต่ละประเทศพึ่งพาตัวเองได้ต่อไปอย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
Cr. ภาพ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล / Pinterest